ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (14 ก.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าสหภาพยุโรป (EU) จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.21% สู่ระดับ 96.2635 เมื่อคืนนี้
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1393 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1352 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2555 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2570 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6968 ดอลลาร์ สหรัฐ จากระดับ 0.6963 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.20 เยน จากระดับ 107.28 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9391 ฟรังก์ จากระดับ 0.9416 ฟรังก์ อย่างไรก็ดี ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3621 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3587 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าขึ้นจากการคาดการณ์ที่ว่า EU จะให้การอนุมัติการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาภาคเอกชนและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
นักวิเคราะห์ระบุว่า หาก EU ให้การอนุมัติการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวก็จะส่งผลให้ยูโรขึ้นทดสอบระดับ 1.1500 ดอลลาร์ ก่อนที่จะดีดตัวแตะแนวต้าน 1.1800 ดอลลาร์
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไปดีดตัวขึ้น 0.6% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2555 โดยได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน ขณะที่ดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนมิ.ย.
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนก.ค.จากเฟดนิวยอร์ก, ราคานำเข้าและราคาส่งออกเดือนมิ.ย., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย., รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดค้าปลีกเดือนมิ.ย., ดัชนีการผลิตเดือนก.ค.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย, ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนก.ค.จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB), สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนพ.ค., ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนมิ.ย. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนก.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน