ดอลลาร์อ่อนค่าเทียบสกุลเงินหลัก แนวโน้มสหรัฐ,EU ออกมาตรการกระตุ้นศก.กดดันตลาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 20, 2020 22:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวลงในวันนี้ โดยถูกกดดันจากแนวโน้มการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางสหรัฐและสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนเทขายดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย

ณ เวลา 22.26 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์แข็งค่า 0.21% สู่ระดับ 107.21 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวขึ้น 0.34% สู่ระดับ 122.67 เยน และดีดตัวขึ้น 0.14% สู่ระดับ 1.1440 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.12% สู่ระดับ 95.83

นักลงทุนจับตาการเจรจาระหว่างทำเนียบขาวและสภาคองเกรสเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่ เนื่องจากโครงการช่วยเหลือคนว่างงานจะหมดอายุลงในวันที่ 31 ก.ค.นี้

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 2 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงต้นปีนี้ เพื่อเยียวยาภาคธุรกิจและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ดี มาตรการจ่ายเงิน 600 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์สำหรับผู้ว่างงานจะสิ้นสุดลงในเดือนนี้

ทางด้านผู้นำ 27 ชาติของ EU จะประชุมร่วมกันอีกครั้งในวันนี้ที่กรุงบรัสเซลส์ หลังจากในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ที่ประชุมยังคงไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร (8.55 แสนล้านดอลลาร์) เพื่อช่วยเยียวยาเศรษฐกิจ EU จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19

เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของ EU ได้เสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร โดยประกอบด้วยเงินกู้และเงินให้เปล่าสำหรับชาติสมาชิก EU ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ในการประชุม 3 วันที่ผ่านมา สมาชิก EU ยังคงมีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขในการรับความช่วยเหลือจากกองทุนดังกล่าว รวมถึงการจัดสรรเงินช่วยเหลือ และการกำกับดูแลการใช้เงิน

เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ออสเตรีย และฟินแลนด์ต่างเรียกร้องให้มีการลดวงเงินการให้ความช่วยเหลือในรูปเงินให้เปล่า และให้ประเทศที่ได้รับเงินกู้จะต้องให้สัญญาเกี่ยวกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ

ล่าสุด EU ส่งสัญญาณว่าอาจบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในวันนี้ โดยคาดว่าที่ประชุมจะให้การอนุมัติการให้ความช่วยเหลือในรูปเงินให้เปล่าที่ระดับ 3.9 แสนล้านยูโร ซึ่งเป็นการประนีประนอมกันระหว่างจำนวน 3.5 แสนล้านยูโรที่เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ออสเตรีย และฟินแลนด์เสนอ ขณะที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีเรียกร้องที่ระดับ 4 แสนล้านยูโร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ