ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (21 ก.ค.) ขานรับข่าวผู้นำกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) บรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.75% สู่ระดับ 95.1175 เมื่อคืนนี้
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1530 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1441 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2755 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2662 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7145 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7011 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 106.78 เยน จากระดับ 107.29 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9327 ฟรังก์ จากระดับ 0.9394 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3438 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3534 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าขานรับรายงานข่าวผู้นำ 27 ชาติของ EU บรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร (8.55 แสนล้านดอลลาร์) เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจ EU จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยวงเงินดังกล่าวประกอบด้วยเงินให้เปล่าจำนวน 3.90 แสนล้านยูโร และเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำจำนวน 3.60 แสนล้านยูโร
นักลงทุนเทขายดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย เนื่องจากความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ โดยนายแพทย์ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายโครงการฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวแสดงความยินดีต่อรายงานที่ว่า วัคซีนที่ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท AstraZeneca ซึ่งเป็นผู้ผลิตยารายใหญ่ของอังกฤษ และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สามารถสร้างภูมิต้านทานเชื้อไวรัสโควิด-19 ในการทดลองในมนุษย์
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก เปิดเผยว่า ดัชนี Chicago Fed National Activity Index (CFNAI) ดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 4.11 ในเดือนมิ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.0 หลังจากแตะระดับ 3.5 ในเดือนพ.ค.
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ดัชนีราคาบ้านเดือนพ.ค., ยอดขายบ้านมือสองเดือนมิ.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนมิ.ย.จาก Conference Board, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือนก.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนก.ค.จากมาร์กิต และยอดขายบ้านใหม่เดือนมิ.ย.