ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (30 ก.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 หดตัวรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 70 ปี นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลเกี่ยวกับข่าวโดนัลด์ ทรัมป์เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐออกไปจากกำหนดเดิมที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 พ.ย.
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.49% แตะที่ 93.0219 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 104.82 เยน จากระดับ 105.03 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9096 ฟรังก์ จากระดับ 0.9138 ฟรังก์ แต่หากเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.3443 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3364 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1837 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1764 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3085 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2961 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7175 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7168 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์อ่อนค่าลงหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า GDP ไตรมาส 2/2563 หดตัวลง 32.9% ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 70 ปี หรือนับตั้งแต่ที่สหรัฐเริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2490 โดยได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล ซึ่งทำให้มีการปิดเศรษฐกิจเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ส่วนในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา GDP สหรัฐหดตัวลง 5% ซึ่งทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากมีการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน
ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 1.434 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 2 สัปดาห์ติดต่อกัน และยังคงมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านรายติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 19 แม้ว่ารัฐต่างๆเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากการที่โดนัลด์ ทรัมป์ได้เสนอให้สหรัฐเลื่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 พ.ย. โดยอ้างว่าการส่งบัตรลงคะแนนทางไปรษณีย์จะทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีการฉ้อโกงมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ
ทั้งนี้ แม้ว่าทรัมป์ไม่มีอำนาจในการชะลอการเลือกตั้งประธานาธิบดีเนื่องจากกฎหมายที่ผ่านสภาคองเกรสในศตวรรษที่ 19 ได้กำหนดให้การเลือกตั้งมีขึ้นในวันอังคารแรกของเดือนพ.ย. แต่ความเคลื่อนไหวของทรัมป์ส่งผลให้นักลงทุนมีปฏิกริยาในด้านลบ
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในวันนี้ ซึ่งได้แก่ ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนมิ.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน