ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (3 ส.ค.) ขานรับดัชนีภาคการผลิตที่ขยายตัวแข็งแกร่งสุดในรอบกว่า 1 ปี ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ค.ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันศุกร์นี้
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.19% แตะที่ระดับ 93.5485 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 105.97 เยน จากระดับ 105.77 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ0.9178 ฟรังก์ จากระดับ 0.9138 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3385 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3384 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1759 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1782 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3074 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3101 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7119 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7145 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์ได้รับแรงหนุนหลังจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยผลสำรวจซึ่งระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 54.2 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.ปีที่แล้ว จากระดับ 52.6 ในเดือนมิ.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 53.6 โดยได้รับปัจจัยบวกจากการที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หลังจากมีการปิดเศรษฐกิจก่อนหน้านี้เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ทางด้านไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.9 ในเดือนก.ค. จากระดับ 49.8 ในเดือนมิ.ย. โดยดัชนีที่อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ถึงภาวะขยายตัวของภาคการผลิตของสหรัฐ
นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ค.ของสหรัฐซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐมีกำหนดเปิดเผยในวันศุกร์นี้ ด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 1.36 ล้านตำแหน่ง และคาดว่าอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 10.7%
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนมิ.ย., ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.ค.จาก ADP, ดุลการค้าเดือนมิ.ย., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนก.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนก.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนมิ.ย.