ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (5 ส.ค.) หลังจากมีรายงานว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นน้อยกว่าการคาดการณ์ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างหนักในสหรัฐ
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวลง 0.55% แตะที่ 92.8665 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 105.62 เยน จากระดับ 105.76 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9084 ฟรังก์ จากระดับ 0.9144 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3280 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3342 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1860 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1783 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3115 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3057 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7192 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7154 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์อ่อนค่าลงหลังจากออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 167,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1 ล้านตำแหน่ง และต่ำกว่าอย่างมากจากระดับ 4.314 ล้านตำแหน่งในเดือนมิ.ย.
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) พบว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 58.1 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.ปีที่แล้ว จากระดับ 57.1 ในเดือนมิ.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 55.0
ขณะที่ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 50.0 ในเดือนก.ค. จากระดับ 47.9 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าดัชนี PMI ภาคบริการของสหรัฐเริ่มมีเสถียรภาพ หลังจากหดตัวติดต่อกัน 5 เดือน
ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐลดลง 7.5% สู่ระดับ 5.07 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมิ.ย. โดยได้แรงหนุนจากการส่งออกพุ่งขึ้น 9.4% สู่ระดับ 1.583 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2558 ส่วนการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น 4.7% สู่ระดับ 2.089 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนมิ.ย.
นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐมีกำหนดเปิดเผยในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 1.36 ล้านตำแหน่งในเดือนก.ค. และคาดว่าอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 10.7%