ดอลลาร์สหรัฐทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (27 ส.ค.) หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศเปลี่ยนแปลงแนวทางในการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ ในการประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮล เมื่อวานนี้ ซึ่งจะปูทางให้เฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำ
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ขยับขึ้นเพียง 0.0048% แตะที่ 93.0093 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์แข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 106.61 เยน จากระดับ 106.01 เยน และแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9087 ฟรังก์ จากระดับ 0.9086 ฟรังก์ แต่เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3128 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3153 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1821 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1815 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3204 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3190 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7258 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7226 ดอลลาร์สหรัฐ
นายพาวเวลประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินครั้งสำคัญ โดยเฟดจะเปลี่ยนแปลงแนวทางในการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ ซึ่งจะเปิดทางให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้นมากกว่าเดิมเพื่อสนับสนุนตลาดแรงงานและเศรษฐกิจสหรัฐ โดยการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินดังกล่าว ส่งผลให้เฟดมีแนวโน้มน้อยลงที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่ออัตราว่างงานลดลง ตราบใดที่อัตราเงินเฟ้อไม่ได้ดีดตัวขึ้น
นายพาวเวลกล่าวว่า เฟดจะใช้เครื่องมือใหม่ที่เรียกว่า "เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย" ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อมีความยืดหยุ่น และสามารถดีดตัวขึ้นเหนือ 2% แทนที่จะกำหนดเป้าหมายตายตัวที่ 2%
ก่อนหน้านี้ เฟดมีความเชื่อว่าอัตราว่างงานต่ำจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นจนถึงขีดอันตราย จึงทำให้เฟดดำเนินการล่วงหน้าด้วยการรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่อาจก่อตัวขึ้น
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 1.006 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากมีการรายงานจำนวน 1.104 ล้านรายในสัปดาห์ก่อนหน้านี้
ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/2563 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลง 31.7% ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ที่สหรัฐเริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2490 หรือกว่า 70 ปีก่อนหน้านี้ หลังจากหดตัว 5% ในไตรมาส 1
อย่างไรก็ดี ตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับ GDP ประจำไตรมาส 2/2563 ดีกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระบุว่าเศรษฐกิจหดตัวลง 32.9% และดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะหดตัวลง 34.7%
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในวันนี้ได้แก่ ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนก.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนก.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนส.ค.