ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (17 ก.ย.) หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยใกล้ 0% เป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 104.69 เยน จากระดับ 105.00 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9089 ฟรังก์ จากระดับ 0.9100 ฟรังก์ แต่เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3174 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3168 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1838 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1802 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2960 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2954 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7304 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7298 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์ได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 860,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งแม้ว่าตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 875,000 ราย แต่นักลงทุนมองว่าจำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานยังอยู่ในระดับที่สูง
ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านลดลง 5.1% ในเดือนส.ค. สู่ระดับ 1.416 ล้านยูนิต หลังจากพุ่งขึ้นติดต่อกัน 3 เดือน และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.478 ล้านยูนิต จากระดับ 1.492 ล้านยูนิตในเดือนก.ค.
นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันหลังจากที่ประชุมเฟดมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% ในการประชุมเมื่อวันพุธที่ผ่านมา และส่งสัญญาณว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยจนถึงปี 2566
เงินปอนด์ดีดตัวขึ้นหลังจากที่ร่วงหนักในระหว่างวัน อันเนื่องมาจาก BoE มีมติเป็นเอกฉันท์ 9-0 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.10% ในการประชุมเมื่อวานนี้ แต่ส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ หากมีความจำเป็น
ทั้งนี้ BoE เปิดเผยว่า ทางธนาคารกลางได้รับการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบอย่างมีประสิทธิภาพ หากแนวโน้มเงินเฟ้อและการผลิตบ่งชี้ว่ามีความจำเป็นที่ BoE ต้องใช้นโยบายดังกล่าว ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำในขณะนี้
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในวันนี้คือ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนก.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนส.ค.จาก Conference Board