ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (7 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายดอลลาร์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยและหันไปซื้อสินทรัพย์เสี่ยง ท่ามกลางความหวังเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.05% แตะที่ระดับ 93.6374
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3267 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3297 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 106.03 เยน จากระดับ 105.55 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9172 ฟรังก์ จากระดับ 0.9166 ฟรังก์
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1765 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1752 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2910 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2900 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7140 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7116 ดอลลาร์สหรัฐ
นักลงทุนเทขายดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตข้อความเมื่อวานนี้ว่า เขาจะลงนามในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายฉบับ เพื่อเยียวยาประชาชนและบางภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พร้อมกับเรียกร้องให้สภาคองเกรสเร่งอนุมัติมาตรการต่างๆที่เขาจะลงนาม ซึ่งได้แก่ การแจกเช็คเงินสดให้แก่ชาวอเมริกันคนละ 1,200 ดอลลาร์ รวมทั้งการอัดฉีดวงเงิน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบิน และวงเงิน 1.35 แสนล้านดอลลาร์สำหรับธุรกิจรายย่อย
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของปธน.ทรัมป์ช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวล หลังจากที่ก่อนหน้านั้นไม่นาน ปธน.ทรัมป์ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวระงับการเจรจากับพรรคเดโมแครตเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ จนกว่าจะผ่านพ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พ.ย.
นอกจากนี้ รายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังบ่งชี้ว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว
ทั้งนี้ รายงานการประชุมประจำวันที่ 15-16 ก.ย.ของเฟดระบุว่า กรรมการส่วนใหญ่ของเฟดได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ โดยเฉพาะมาตรการให้ความช่วยเหลือคนว่างงานซึ่งได้หมดอายุลงตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.และยังไม่มีการต่ออายุจนถึงขณะนี้ โดยมาตรการดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎหมาย Coronavirus Aid, Relief and Economic Security (CARES) ซึ่งได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรสสหรัฐในช่วงปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา
"กรรมการเฟดมองว่า มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจภายใต้กฎหมาย CARES นั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ครัวเรือนหลายล้านครัวเรือน และหากไม่มีการเยียวยาเพิ่มเติม ก็จะสร้างความยากลำบากให้กับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่มีรายได้น้อย" รายงานการประชุมระบุ
นักลงทุนจับตาการประชันวิสัยทัศน์ของคู่ชิงรองประธานาธิบดีสหรัฐ ระหว่างนายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐ จากพรรครีพับลิกัน และนางคามาลา แฮร์ริส ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต ในการดีเบตที่จะมีขึ้นในเวลา 21.00 น.ของวันพุธตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับเวลา 08.00 น.ของวันพฤหัสบดีตามเวลาไทย
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่จะมีการเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และ สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนส.ค.