ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (14 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับทิศทางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐ หลังจากนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐยอมรับว่า ทำเนียบขาวและพรรคเดโมแครตอาจไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ได้ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พ.ย.
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.16% แตะที่ 93.3865 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 105.10 เยน จากระดับ 105.49 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9131 ฟรังก์ จากระดับ 0.9145 ฟรังก์ แต่เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นสู่ร่ะดับ 1.3145 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3140 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1750 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1744 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3023 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2933 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7166 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7153 ดอลลาร์สหรัฐ
นายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ ยอมรับว่า การบรรลุข้อตกลงในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พ.ย. ถือเป็นเรื่องที่ยาก โดยพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันยังคงมีความขัดแย้งกันในหลายประเด็น ซึ่งรวมถึงประเด็นวงเงินของมาตรการดังกล่าว
ทั้งนี้ นางเพโลซีได้ปฏิเสธข้อเสนอวงเงิน 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ของทำเนียบขาว โดยระบุว่า วงเงินดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการเยียวยาผลกระทบของโควิด-19 ขณะที่พรรคเดโมแครตเสนอวงเงิน 2.2 ล้านล้านดอลลาร์
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ดีดตัว 0.4% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนส.ค. โดยดัชนี PPI ได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของราคาที่พักในโรงแรม
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ราคานำเข้าและราคาส่งออกเดือนก.ย., ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนต.ค.จากเฟดนิวยอร์ก, ดัชนีการผลิตเดือนต.ค.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย, ยอดค้าปลีกเดือนก.ย., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนส.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนต.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน