ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน แตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีครึ่งในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนหันไปซื้อสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยง ท่ามกลางการคาดการณ์เกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการที่สหรัฐจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ณ เวลา 23.42 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์ปรับตัวขึ้น 0.12% สู่ระดับ 104.39 เยน ขณะที่ยูโรดีดตัวขึ้น 1.01% สู่ระดับ 125.62 เยน และพุ่งขึ้น 0.91% สู่ระดับ 1.204 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ลบ 0.53% สู่ระดับ 91.38
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ประกาศปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้ โดยได้รับปัจจัยบวกจากความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 รวมทั้งการที่รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกพากันออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19
ทั้งนี้ OECD คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัว 4.2% ในปีนี้ ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ในเดือนก.ย.ว่าจะหดตัวลง 4.5%
นอกจากนี้ OECD คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัวสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ภายในช่วงปลายปี 2564 โดยจะขยายตัวเฉลี่ย 4% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า ขณะที่ขยายตัว 4.2% ในปี 2564 และ 3.7% ในปี 2565
ทางด้านนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ และนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ มีกำหนดแถลงข่าวในวันนี้เกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ วงเงิน 9.08 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนถึงวันที่ 31 มี.ค.2564
นักลงทุนจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ซึ่งจะเข้าทำการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันนี้เกี่ยวกับการดำเนินการของเฟดและรัฐบาลสหรัฐในการเยียวยาผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิด-19
เว็บไซต์ของเฟดได้เผยแพร่ร่างแถลงการณ์ของนายพาวเวลซึ่งเตรียมไว้สำหรับการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันนี้ โดยระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นทั้งในสหรัฐและทั่วโลก จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
"เมื่อพูดถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น เรามองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน และแนวโน้มเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการจัดการกับการแพร่ระบาด"
"จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นทั้งในสหรัฐและต่างประเทศนั้น ถือเป็นสิ่งที่น่ากังวล และอาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ โดยการฟื้นตัวอย่างเต็มรูปแบบของเศรษฐกิจยังไม่มีแนวโน้มเกิดขึ้น จนกว่าประชาชนจะมีความมั่นใจในการเข้าร่วมกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง" นายพาวเวลกล่าว
นายพาวเวลยังกล่าวด้วยว่า "แม้มีข่าวเชิงบวกเกี่ยวกับวัคซีนต้านโควิด-19 ในระยะกลางนี้ แต่ก็ยังมีความท้าทายและความไม่แน่นอนอย่างมีนัยสำคัญในขณะนี้ ซึ่งรวมถึงระยะเวลา การผลิต และการจำหน่ายจ่ายแจก นอกจากนี้ ประสิทธิภาพของวัคซีนของแต่ละบริษัทก็ยังแตกต่างกันด้วย"
นอกจากนี้ นายพาวเวลยังกล่าวถึงความสำคัญของโครงการเงินกู้เพื่อเยียวยาผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งโครงการดังกล่าวจะหมดอายุในวันที่ 31 ธ.ค.นี้
"โครงการเหล่านี้มีความสำคัญในฐานะเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนตลาดสินเชื่อ และยังช่วยฟื้นฟูการไหลเวียนของสินเชื่อจากบรรดาผู้ปล่อยกู้เอกชนผ่านช่องทางปกติ" นายพาวเวลกล่าว
อย่างไรก็ดี นายมนูชินได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่า จะไม่มีการต่ออายุโครงการเงินกู้ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ แม้เจ้าหน้าที่เฟดได้เรียกร้องให้มีการขยายโครงการปล่อยกู้ดังกล่าวก็ตาม