ดอลลาร์อ่อนค่าต่ำสุด 2 ปีครึ่ง ลุ้นสหรัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 3, 2020 00:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์อ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีครึ่งในวันนี้ ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่าสหรัฐจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ณ เวลา 00.14 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์ปรับตัวขึ้น 0.18% สู่ระดับ 104.49 เยน ขณะที่ยูโรแข็งค่า 0.35% สู่ระดับ 126.33 เยน และดีดตัวขึ้น 0.16% สู่ระดับ 1.209 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.17% สู่ระดับ 91.16

นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะลงนามในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐตามข้อเสนอของนายมิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภา หากมาตรการดังกล่าวสามารถผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรส

"ท่านประธานาธิบดีจะลงนามในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คุณแมคคอนเนลล์เสนอเมื่อวานนี้ และเราจะพยายามสานต่อจากข้อเสนอดังกล่าว" นายมนูชินกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายมนูชินและนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ได้หารือกันเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินกว่า 9 แสนล้านดอลลาร์เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

อย่างไรก็ดี นายแมคคอนเนลล์กล่าวคัดค้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9.08 แสนล้านดอลลาร์ ตามข้อเสนอของพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน

"เราไม่ควรเสียเวลาอีกต่อไป" นายแมคคอนเนลล์กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว

นายแมคคอนเนลล์กล่าวว่า เขาต้องการให้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินราว 5 แสนล้านดอลลาร์ที่มีการระบุความช่วยเหลือต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างเฉพาะเจาะจงในการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้ นายแมคคอนเนลล์กล่าวว่า สภาคองเกรสควรพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และร่างกฎหมายงบประมาณหลีกเลี่ยงการปิดหน่วยงานรัฐบาล (ชัตดาวน์) ในคราวเดียวกัน

ทั้งนี้ สภาคองเกรสจำเป็นจะต้องอนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณดังกล่าวภายในวันที่ 11 ธ.ค.เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะชัตดาวน์

ทางด้านออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 307,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 475,000 ตำแหน่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ