ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (17 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายดอลลาร์ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย และเข้าซื้อสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยง หลังมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการเจรจามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งการที่อังกฤษและสหภาพยุโรป (EU) มีแนวโน้มบรรลุข้อตกลงการค้า
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.7% แตะที่ 89.8200 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 103.10 เยน จากระดับ 103.61 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8849 ฟรังก์ จากระดับ 0.8871 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2727 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2754 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 1.2264 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2164 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3574 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3478 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7622 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7563 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์ถูกกดดันจากหลายปัจจัย ซึ่งได้แก่ ความคืบหน้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ, การที่อังกฤษและสหภาพยุโรป (EU) มีแนวโน้มบรรลุข้อตกลงการค้า รวมทั้งการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้คำมั่นที่จะใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน และการอัดฉีดเม็ดเงินผ่านทางการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ
นายมิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐ กล่าวว่า แกนนำในสภาคองเกรสมีความคืบหน้าในการเจรจาเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งการออกกฎหมายงบประมาณชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยงการปิดหน่วยงานของรัฐบาลอันเนื่องจากการขาดแคลนงบประมาณ (ชัตดาวน์)
ส่วนสถานการณ์ของอังกฤษนั้น นายมิเชล บาร์นิเยร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้แทนการเจรจาฝ่าย EU ว่าด้วยการแยกตัวของอังกฤษออกจาก EU (Brexit) เปิดเผยว่า การบรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างอังกฤษ และ EU ยังคงมีความเป็นไปได้ พร้อมระบุว่า การเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายยังคงดำเนินไปในขณะนี้ เพื่อประสานความคิดเห็นที่แตกต่างกันในประเด็นการประมง และกฎระเบียบที่จะนำมาใช้ต่อบริษัทต่างๆ อย่างเป็นธรรม
นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการที่เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% ในการประชุมเมื่อวันพุธที่ผ่านมา พร้อมกับให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงินรวม 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน จนกว่าเฟดจะบรรลุเป้าหมายในการจ้างงานเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพของราคา
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 1.2% ในเดือนพ.ย. สู่ระดับ 1.547 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.535 ล้านยูนิต จากระดับ 1.528 ล้านยูนิตในเดือนต.ค.
ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 885,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนก.ย. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 800,000 ราย จากระดับ 862,000 รายที่มีการรายงานในสัปดาห์ก่อนหน้านี้
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในวันนี้ได้แก่ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนพ.ย.จาก Conference Board