ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (22 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเดินหน้าซื้อดอลลาร์ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ในอังกฤษ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการที่สภาคองเกรสสหรัฐสามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9 แสนล้านดอลลาร์
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.68% แตะที่ 90.6500 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 103.68 เยน จากระดับ 103.34 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8901 ฟรังก์ จากระดับ 0.8846 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2902 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2829 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2160 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2249 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3353 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3460 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7530 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7596 ดอลลาร์สหรัฐ
นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย หลังมีรายงานพบไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ที่แพร่เชื้อรวดเร็วกว่าเดิมในอังกฤษ ซึ่งทำให้ประเทศต่างๆกว่า 40 ประเทศทั้งในยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง ได้ออกมาตรการจำกัดการเดินทางจากอังกฤษ ขณะที่รายงานล่าสุดระบุว่า รัฐบาลสหรัฐกำลังพิจารณาออกกฎข้อบังคับให้ผู้โดยสารทุกคนที่เดินทางมาจากอังกฤษต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนออกเดินทาง
นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนหลังจากสภาคองเกรสได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9 แสนล้านดอลลาร์เพื่อเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ สภาคองเกรสยังได้อนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณวงเงิน 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ที่จะทำให้หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐสามารถเปิดดำเนินการต่อไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.2564
ทั้งนี้ ร่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9 แสนล้านดอลลาร์ได้ถูกส่งให้กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อลงนามบังคับใช้เป็นลำดับต่อไป ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ปธน.ทรัมป์จะลงนามในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับนี้
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 88.6 ในเดือนธ.ค. จากระดับ 92.9 ในเดือนพ.ย. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 97.0
ขณะที่สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองปรับตัวลง หลังจากเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 5 เดือน โดยร่วงลง 2.5% สู่ระดับ 6.69 ล้านยูนิตในเดือนพ.ย. หลังจากแตะระดับ 6.85 ล้านยูนิตในเดือนต.ค.
ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นประมาณการครั้งสุดท้าย สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3/2563 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 33.4% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่สหรัฐเริ่มมีการรวบรวมข้อมูลในปี 2490 หรือกว่า 70 ปีก่อนหน้านี้ และดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะทรงตัวจากตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ที่ระดับ 33.1%
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนพ.ย., ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนพ.ย., ดัชนีราคาบ้านเดือนต.ค., ยอดขายบ้านใหม่เดือนพ.ย., ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนพ.ย.