ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (31 ธ.ค.) แต่เมื่อเทียบตลอดทั้งปี 2563 ที่ผ่านมานั้น ดอลลาร์อ่อนค่าลงกว่า 7%
การซื้อขายในตลาดเงินนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ได้รับปัจจัยหนุน โดยนักลงทุนขานรับตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานซึ่งปรากฏว่าลดลงติดต่อกัน 2 สัปดาห์แล้ว
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.33% แตะ 89.9700 เมื่อคืนนี้
ยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2210 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2290 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.3664 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3611 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7705 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7677 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 103.27 เยน จากระดับ 103.25 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8857 ฟรังก์ จากระดับ 0.8820 ฟรังก์ ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2737 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2763 ดอลลาร์แคนาดา
ดัชนีดอลลาร์ร่วงลง 7.2% ในปีนี้ โดยมีเป้าหมายถัดไปที่ 89.277 และ 88.251 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในปี 2561
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดอลลาร์ยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในปี 2564 ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จากการที่มีการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ในวงกว้าง ซึ่งจะทำให้นักลงทุนถือครองสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ขณะที่เทขายดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย
นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังถูกกดดันจากคาดการณ์ที่ว่า รัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ หลังเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค.2564
นักลงทุนยังคงมีความหวังต่อการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ แม้ว่านายมิตช์ แมคคอนเนล ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐ ได้ขัดขวางการพิจารณาเพิ่มวงเงินในเช็คเงินสดให้แก่ชาวอเมริกันเป็น 2,000 ดอลลาร์ จากเดิม 600 ดอลลาร์ ขณะที่สภาผู้แทนราษฏรมีมติอนุมัติการเพิ่มวงเงินดังกล่าวตามข้อเสนอของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ตลาดจับตาการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภารอบสองในรัฐจอร์เจียในวันที่ 5 ม.ค.2564 ซึ่งจะตัดสินว่าพรรคเดโมแครตหรือรีพับลิกันจะครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา ซึ่งหากพรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้ง ก็จะทำให้ทางพรรคสามารถครองอำนาจเบ็ดเสร็จในทำเนียบขาว วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเอื้อต่อการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ
เมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 787,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว จากระดับ 806,000 รายที่มีการรายงานในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ โดยเป็นการปรับตัวลง 2 สัปดาห์ติดต่อกัน
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 828,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว