ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งเทียบสกุลเงินหลัก รับความหวังศก.สหรัฐฟื้นตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 2, 2021 07:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากมุมมองที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัว และสหรัฐมีความสามารถที่จะฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชนได้ตามเป้า ขณะที่สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงหลังจากเยอรมนีเปิดเผยยอดค้าปลีกทรุดตัวลงในเดือนธ.ค.

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.45% แตะที่ระดับ 90.9871

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2065 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2132 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3670 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3703 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7640 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7641 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 104.94 เยน จากระดับ 104.73 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8968 ฟรังก์ จากระดับ 0.8905 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2843 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2802 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงหลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี (Destatis) รายงานว่า ยอดค้าปลีกทรุดตัวลง 9.6% ในเดือนธ.ค. มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลงเพียง 2.6% เนื่องจากรัฐบาลเยอรมนีตัดสินใจยกระดับมาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคชะลอตัวลง

สกุลเงินดอลลาร์ได้รับปัจจัยหนุนจากความหวังที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัว และสหรัฐมีความสามารถที่จะฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชนได้ตามเป้า

ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 5.1% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.1% โดยได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9 แสนล้านดอลลาร์ของรัฐบาลสหรัฐภายใต้อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และหากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดนผ่านการอนุมัติของสภาคองเกรส ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัวมากขึ้น

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ ไอเอชเอส มาร์กิต ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 59.2 ในเดือนม.ค. จากระดับ 57.1 ในเดือนธ.ค. โดยดัชนี PMI เดือนม.ค.ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลในเดือนพ.ค.2550

ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ที่เริ่มมีการเก็บรวบรวมข้อมูลในปี 2545 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.9% หลังจากพุ่งขึ้น 1.1% ในเดือนพ.ย.

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนม.ค.จาก ADP, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนม.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนม.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนธ.ค. และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนม.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ