ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (2 ก.พ.) โดยได้ปัจจัยบวกจากการคาดการณ์ที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นเร็วกว่ายุโรป หลังเผชิญการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.24% แตะ 91.2011 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 105.08 เยน จากระดับ 104.94 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8986 ฟรังก์ จากระดับ 0.8968 ฟรังก์ แต่เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2805 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2843 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2020 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2065 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3653 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3670 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7590 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7640 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์ได้รับปัจจัยหนุนจากความหวังที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นเร็วกว่ายุโรป โดยความคืบหน้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวงกว้างของสหรัฐ สวนทางกับความล่าช้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในยุโรป และการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรป
ทางด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้พบปะกับสมาชิกพรรครีพับลิกันที่ทำเนียบขาวเมื่อวันจันทร์เพื่อหารือเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ โดยมีแนวโน้มว่าเขาจะพยายามผลักดันมาตรการดังกล่าวให้ผ่านการอนุมัติของสภาคองเกรส แม้เผชิญเสียงท้วงติงเกี่ยวกับวงเงินที่สูงถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์จากสมาชิกรัฐสภาทั้งจากพรรครีพับลิกันและเดโมแครต
นอกจากนี้ ปธน.ไบเดนกล่าวว่า เขาหวังว่ารัฐบาลจะสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ชาวอเมริกันจำนวนมากกว่า 1 ล้านโดสต่อวัน
สกุลเงินยูโรได้รับแรงกดดันหลังจากสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจยูโรโซนหดตัว 0.7% ในไตรมาส 4/2563 โดยได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลหลายประเทศในยุโรปใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดรอบ 2 ของไวรัสโควิด-19
ทางด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนสู่ระดับ 4.2% ในปีนี้ จากเดิมที่ระดับ 5.2%
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนม.ค.จาก ADP, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนม.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนม.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนธ.ค. และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนม.ค.