ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (16 ก.พ.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน ขณะที่นักลงทุนจับตารายงานการประชุมประจำเดือนม.ค.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อจับสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดในอนาคต
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.19% แตะที่ 90.5219. เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 105.89 เยน จากระดับ 105.35 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8918 ฟรังก์ จากระดับ 0.8902 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2679 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2636 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2115 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2130 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3910 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3907 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7762 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7784 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก รายงานว่า ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ปรับตัวขึ้น 8.6 จุด แตะระดับ 12.1 ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.ปีที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.9
ดัชนีที่อยู่เหนือระดับ 0 บ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคการผลิตในนิวยอร์ก โดยดัชนีมีค่าเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่ ขณะที่ภาคธุรกิจยังคงมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ตลาดจับตาดัชนีภาคการผลิตจากเฟดนิวยอร์ก เนื่องจากเป็นตัวชี้วัดนำ (leading indicator) สำหรับดัชนีภาคการผลิตทั่วประเทศของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) โดยในเดือนม.ค. ดัชนีภาคการผลิตของ ISM ร่วงจากระดับสูงสุดในรอบกว่าสองปี ลงมาอยู่ที่ 58.7 อย่างไรก็ดี นับเป็นเดือนที่แปดติดต่อกันที่ดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งเป็นเส้นแบ่งระหว่างภาวะขยายตัวกับภาวะหดตัว
นักลงทุนจับตารายงานการประชุมเดือนม.ค.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ เพื่อจับตาทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดได้ส่งสัญญาณเมื่อเร็วๆนี้ว่า เฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงาน
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ยอดค้าปลีกเดือนม.ค., ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนม.ค., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนธ.ค., ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนก.พ.จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนม.ค., ดัชนีการผลิตเดือนก.พ.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย, ราคานำเข้าและราคาส่งออกเดือนม.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนก.พ.จากมาร์กิต, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือนก.พ.จากมาร์กิต และยอดขายบ้านมือสองเดือนม.ค.