ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (23 ก.พ.) หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แสดงมุมมองบวกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์ได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลอังกฤษประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.15% แตะที่ 90.1663 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 105.31 เยน จากระดับ 105.03 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9055 ฟรังก์ จากระดับ 0.8957 ฟรังก์ แต่เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.2593 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2602 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2144 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2164 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.4107 ดอลลาร์ จากระดับ 1.4074 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7910 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7922 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์ได้รับปัจจัยหนุนหลังจากนายพาวเวลได้แถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาเมื่อคืนนี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัว 6% ในปีนี้ โดยเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 หลังมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนในวงกว้าง
ขณะเดียวกันนายพาวเวลคาดว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐอาจดีดตัวกลับขึ้นไปแตะระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่นายพาวเวลปฏิเสธที่จะระบุอย่างชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในเดือนนี้หรือไม่
ส่วนเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นหลังจากนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษประกาศแผนการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ 4 ขั้นตอน ซึ่งรวมถึงการที่เด็กและเยาวชนทุกช่วงอายุจะได้รับอนุญาตให้กลับไปเรียนหนังสือในโรงเรียนและวิทยาลัยในอังกฤษได้ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.เป็นต้นไป
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ ผลสำรวจของเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ชิลเลอร์ ระบุว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐพุ่งขึ้น 10.4% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบ 7 ปี โดยราคาบ้านได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งของผู้ซื้อบ้าน, สต็อกบ้านที่ตึงตัว และอัตราดอกเบี้ยจำนองที่ระดับต่ำ
ขณะที่ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 91.3 ในเดือนก.พ. จากระดับ 88.9 ในเดือนม.ค. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 90.0 โดยดัชนีความเชื่อมั่นดีดตัวขึ้น หลังมีการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในวงกว้าง
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่เดือนม.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนม.ค., ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนม.ค., ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนม.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นสุดท้ายเดือนก.พ.