ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (25 ก.พ.) โดยได้แรงหนุนจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นสูงถึง 1.6% นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่ดีเกินคาดช่วยหนุนดอลลาร์ด้วย
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 90.1344 เมื่อคืนนี้ หลังร่วงลงแตะ 89.677 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 106.20 เยน จากระดับ 105.94 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.2576 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2529 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9046 ฟรังก์ จากระดับ 0.9076 ฟรังก์
ส่วนยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2184 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2148 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.4036 ดอลลาร์ จากระดับ 1.4123 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะระดับ 0.7902 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7943 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐได้แรงหนุนจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นแตะ 1.55% หลังทะยานขึ้นสูงถึงระดับ 1.6% ซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้นเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการคาดการณ์ที่ว่า อัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐจะเป็นไปอย่างแข็งแกร่งหลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาดของสหรัฐได้ช่วยหนุนดอลลาร์ให้แข็งค่าขึ้นด้วย โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 730,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่สัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 28 พ.ย.2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 845,000 ราย
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2563 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 4.1% โดยปรับตัวดีกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระดับ 4.0% และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป พุ่งขึ้น 3.4% ในเดือนม.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 1.2% ในเดือนธ.ค.