ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนครึ่งในวันนี้ โดยนักลงทุนพากันถือครองดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ณ เวลา 23.33 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์แข็งค่า 0.47% สู่ระดับ 108.85 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.03% สู่ระดับ 129.03 เยน และร่วงลง 0.52% สู่ระดับ 1.186 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ บวก 0.39% สู่ระดับ 92.33 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปลายเดือนพ.ย.2563
ทั้งนี้ หลังจากที่ได้ทรุดตัวลง 4% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ดอลลาร์ก็ได้แข็งค่าขึ้นเกือบ 2.5% นับตั้งแต่ต้นปีนี้ ขณะที่นักลงทุนคาดการณ์ว่าการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น และเพิ่มอุปสงค์ในการถือครองดอลลาร์
นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการที่วุฒิสภาสหรัฐให้การอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน รวมทั้งการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่แข็งแกร่งเกินคาด
วุฒิสภาสหรัฐมีมติด้วยคะแนนเสียง 50 ต่อ 49 ผ่านร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยร่างกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับนี้ ประกอบด้วยงบประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์เพื่อแจกจ่ายให้กับชาวอเมริกันคนละ 1,400 ดอลลาร์ โดยเป็นการให้เงินช่วยเหลือครั้งเดียว นอกจากนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวยังรวมถึงมาตรการช่วยเหลือคนว่างงานต่อเนื่องสัปดาห์ละ 300 ดอลลาร์ โดยครอบคลุมชาวอเมริกันราว 9.5 ล้านรายที่ตกงานอันเนื่องจากผลกระทบของโควิด-19
วุฒิสภาสหรัฐจะส่งกลับร่างกฏหมายที่อนุมัติแล้วให้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐพิจารณาทบทวนในวันพรุ่งนี้ ซึ่งหากผ่านการอนุมัติ ก็จะส่งต่อไปยังปธน.ไบเดนเพื่อลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไปก่อนวันที่ 14 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่มาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงานในปัจจุบันจะหมดอายุลง
นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 16-17 มี.ค. เพื่อดูท่าทีของเฟดต่อแนวโน้มการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อจากการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ