ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (17 มี.ค.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งล่าสุด และส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.49% สู่ระดับ 91.4180 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.82 เยน จากระดับ 108.99 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9220 ฟรังก์ จากระดับ 0.9251 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2416 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2443 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1980 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1904 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3949 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3895 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7795 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7745 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์อ่อนค่าลงหลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% ในการประชุมเมื่อวานนี้ พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนถึงปี 2566 แม้มีการคาดการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นก็ตาม
ทั้งนี้ เฟดปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2564-66 สู่ระดับ 2.4%, 2.0% และ 2.1% ตามลำดับ พร้อมกับปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2564 และ 2565 สู่ระดับ 6.5% และ 3.3% ตามลำดับ
นอกจากนี้ เฟดระบุว่าจะยังคงซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน โดยเฟดจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐวงเงิน 8 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน และซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ในวงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านดิ่งลง 10.3% ในเดือนก.พ. สู่ระดับ 1.421 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2563 โดยได้รับผลกระทบจากภาวะอากาศที่หนาวเย็นในสหรัฐ และการพุ่งขึ้นของราคาไม้ซึ่งเป็นวัสดุสำคัญในการสร้างบ้าน
ทางด้านสมาคมนายธนาคารเพื่อการจำนอง (MBA) ของสหรัฐ เปิดเผยว่า จำนวนผู้ที่ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการรีไฟแนนซ์ลดลง 4% ในสัปดาห์ที่แล้ว และดิ่งลง 39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยได้รับผลกระทบจากการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันนี้ได้แก่ ดัชนีการผลิตเดือนมี.ค.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์