ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ สอดคล้องกับการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่า เฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำ
ณ เวลา 21.02 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์ร่วงลง 0.66% สู่ระดับ 109.11 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.44% สู่ระดับ 129.81 เยน และดีดตัวขึ้น 0.24% สู่ระดับ 1.190 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ลบ 0.33% สู่ระดับ 92.15 หลังจากแตะระดับ 92.134 เมื่อวานนี้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.
ดัขนีดอลลาร์เคยพุ่งแตะ 93.439 ในช่วงปลายเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 5 เดือน ท่ามกลางความหวังที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะยุโรป
ทั้งนี้ เฟดเปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินประจำวันที่ 16-17 มี.ค. โดยระบุว่า เฟดอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนที่จะเริ่มปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดยเฟดจะเดินหน้าซื้อพันธบัตรอย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน จนกว่าเฟดจะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และการสร้างเสถียรภาพด้านราคา
นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ซึ่งจะกล่าวผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในการประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในวันนี้
ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกพุ่งขึ้นสู่ระดับ 744,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 694,000 ราย
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ปรับเพิ่มตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ สู่ระดับ 728,000 ราย จากเดิมรายงานที่ระดับ 719,000 ราย
ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานยังคงสูงกว่าระดับในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งไม่เคยสูงเกินระดับ 700,000 ราย โดยในภาวะปกติ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานจะอยู่ในช่วง 200,000-250,000 ราย
ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐยังรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลงสู่ระดับ 3.73 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.2563