ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (23 เม.ย.) เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐยังคงชะลอตัว ซึ่งลดความน่าดึงดูดใจของดอลลาร์ และได้บดบังปัจจัยบวกจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.52% สู่ระดับ 90.8621 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 107.94 เยน จากระดับ 108.09 เยน, อ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9134 ฟรังก์ จากระดับ 0.9182 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.2473 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2498 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.2091 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2007 ดอลลาร์, เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.3875 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3836 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าแตะที่ระดับ 0.7756 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7706 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวลง เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปียังคงอยู่ที่ราว 1.56% ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ หลังพุ่งแตะระดับ 1.75% ในช่วงสิ้นเดือนมี.ค. ซึ่งได้ลดความน่าดึงดูดใจของดอลลาร์ แม้สหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาดก็ตาม
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่พุ่งขึ้น 20.7% สู่ระดับ 1.021 ล้านยูนิตในเดือนมี.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 886,000 ยูนิต หลังจากดิ่งลง 16.2% ในเดือนก.พ. และราคาเฉลี่ยของบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 0.8% สู่ระดับ 330,800 ดอลลาร์ในเดือนมี.ค.
ส่วนไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงินเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ดีดตัวสู่ระดับ 62.2 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากระดับ 59.7 ในเดือนมี.ค. โดยดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะขยายตัวทั้งภาคการผลิตและบริการ
สำหรับดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น อยู่ที่ 60.6 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากระดับ 59.1 ในเดือนมี.ค. และดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น อยู่ที่ 63.1 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากระดับ 60.4 ในเดือนมี.ค.