ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (27 เม.ย.) โดยดอลลาร์ปรับตัวตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ดีดตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะแถลงมติการประชุมนโยบายการเงินในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าตรู่ของวันพรุ่งนี้ตามเวลาไทย
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.11% แตะที่ 90.9048 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.73 เยน จากระดับ 108.10 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9142 ฟรังก์ จากระดับ 0.9140 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2407 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2399 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2089 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2091 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3901 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3906 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7765 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7805 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์ปรับตัวตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีที่ดีดตัวสู่ระดับ 1.586% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.259% เมื่อคืนนี้ ก่อนที่นักลงทุนจะรู้ผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าตรู่ของวันพรุ่งนี้ตามเวลาไทย ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเอาไว้ที่ระดับใกล้ 0% และเดินหน้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาตัวเลข GDP ไตรมาส 1/2564 ของสหรัฐในวันพฤหัสบดีนี้ ขณะที่ผลการสำรวจนักวิเคราะห์ระบุว่า GDP ของสหรัฐจะขยายตัว 6.1% ในไตรมาส 1 ซึ่งจะเป็นการขยายตัวสูงเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่ไตรมาส 3/2546 หลังจากที่มีการขยายตัว 4.3% ในไตรมาส 4/2563
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ ผลสำรวจของเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ชิลเลอร์ ระบุว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐพุ่งขึ้น 12% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว โดยเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2549 หลังจากเพิ่มขึ้น 11.2% ในเดือนม.ค.
ทางด้านผลสำรวจของ Conference Board ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ระดับ 121.7 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มเกิดการระบาดของโควิด-19 ในเดือนก.พ.2563 จากระดับ 109.0 ในเดือนมี.ค. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 113.0 โดยได้แรงหนุนจากการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในวงกว้าง และการเปิดเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนมี.ค., รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนมี.ค., ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนมี.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน