ดอลลาร์แข็งค่า ขานรับเศรษฐกิจแข็งแกร่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 30, 2021 23:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์แข็งค่าเทียบสกุลเงินหลักในวันนี้ ขานรับการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ

อย่างไรก็ดี ดอลลาร์มีแนวโน้มร่วงลงเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน โดยถูกกดดันจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันว่า เฟดจะยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป และจะยังไม่ปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) แม้เศรษฐกิจสหรัฐมีการฟื้นตัวแข็งแกร่งมากขึ้นก็ตาม

ณ เวลา 23.29 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์แข็งค่า 0.33% สู่ระดับ 109.27 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.37% สู่ระดับ 131.49 เยน และร่วงลง 0.7% สู่ระดับ 1.203 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.65% สู่ระดับ 91.20

ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 6.4% ในไตรมาส 1 ซึ่งเป็นตัวเลขการขยายตัวสูงเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่ไตรมาส 3/2546 หลังจากที่เติบโต 4.3% ในไตรมาส 4/2563

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีการขยายตัวมากกว่า 7.0% ในปีนี้ ซึ่งจะเป็นการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2527 หลังจากหดตัว 3.5% ในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 74 ปี

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้น 4.2% ในเดือนมี.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 4.1% หลังจากลดลง 1.0% ในเดือนก.พ.

นอกจากนี้ รายได้ส่วนบุคคลพุ่งขึ้น 21.2% ในเดือนมี.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 20.3% หลังจากลดลง 7.0% ในเดือนก.พ.

การพุ่งขึ้นของการใช้จ่ายและรายได้ส่วนบุคคลได้รับแรงหนุนจากการที่รัฐบาลสหรัฐส่งเช็คเงินสดให้แก่ชาวอเมริกันตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับ 88.3 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐในเดือนมี.ค.2563 จากระดับ 84.9 ในเดือนมี.ค. และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 87.0

การพุ่งขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ ขณะที่มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวงกว้าง

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 500 รายต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ สถานะการเงินส่วนบุคคล, ภาวะเงินเฟ้อ, การว่างงาน, อัตราดอกเบี้ย และนโยบายรัฐบาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ