ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (6 พ.ค.) หลังจากนักลงทุนลดคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันนี้
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.40% สู่ระดับ 90.9523
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.04 เยน จากระดับ 109.25 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9087 ฟรังก์ จากระดับ 0.9135 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2184 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2278 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2055 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1999 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ 1.3884 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3906 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.7772 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7744 ดอลลาร์
นักลงทุนลดคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังจากที่นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐได้ออกมาชี้แจงว่า เธอไม่ได้คาดการณ์หรือให้คำแนะนำว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ นางเยลเลนยังกล่าวว่า เงินเฟ้อยังไม่ได้สร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจสหรัฐ
คำชี้แจงดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่นางเยลเลนเปิดเผยในงานสัมมนาของนิตยสารดิแอตแลนติกเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า เฟดอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐร้อนแรงเกินไป อันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งการแสดงความเห็นดังกล่าวทำให้เกิดกระแสคาดการณ์ในตลาดการเงินว่า นางเยลเลนกำลังสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 92,000 ราย สู่ระดับ 498,000 รายในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 1 พ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐเมื่อเดือนมี.ค.2563 นอกจากนี้ ตัวเลขดังกล่าวยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 540,000 ราย
ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐเพิ่มขึ้น 5.4% ในไตรมาส 1/2564 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.3% นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังได้ปรับตัวเลขประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานในไตรมาส 4/2563 เป็นหดตัวลง 3.8% จากเดิมที่ระบุว่าหดตัว 4.2%
นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนเม.ย.ของสหรัฐซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในวันนี้ ด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะพุ่งขึ้นแตะระดับ 1,000,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. และคาดว่าอัตราว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 5.8%