ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (10 พ.ค.) เนื่องจากตัวเลขจ้างงานเดือนเม.ย.ของสหรัฐที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด ได้ลดแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.03% แตะที่ 90.2155 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9007 ฟรังก์ จากระดับ 0.9010 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2099 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2141 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.82 เยน จากระดับ 108.61 เยน
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2144 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2165 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.4134 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3996 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7842 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7846 ดอลลาร์สหรัฐ
กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 266,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 1,000,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 6.1% ในเดือนเม.ย. สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 5.8%
ทั้งนี้ ตัวเลขจ้างงานที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในวันพุธนี้ ซึ่งหากตัวเลข CPI พุ่งขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ก็อาจส่งผลให้เฟดชะลอการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยอาจลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อสกัดเงินเฟ้อ จากปัจจุบันที่เฟดทำ QE อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน
ก่อนหน้านี้ เฟดเคยส่งสัญญาณลดวงเงิน QE ในปี 2556 ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกต่อนักลงทุน ส่งผลให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทและตลาดหุ้นทั่วโลกทรุดตัวลงอย่างหนักในปีดังกล่าว
นอกเหนือจากดัชนี CPI แล้ว นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐในสัปดาห์นี้ด้วย ซึ่งได้แก่ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนมี.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนเม.ย., ยอดค้าปลีกเดือนเม.ย., ราคานำเข้าและส่งออกเดือนเม.ย., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนมี.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนพ.ค.