ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (11 พ.ค.) โดยดอลลาร์ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในวันนี้ ขณะที่สกุลเงินยูโรได้รับปัจจัยหนุนจากดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีที่พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่ง
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.08% แตะที่ 90.1424 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.64 เยน จากระดับ 108.82 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2089 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2099 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.9034 ฟรังก์ จากระดับ 0.9007 ฟรังก์
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2152 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2144 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.4157 ดอลลาร์ จากระดับ 1.4134 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7844 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7842 ดอลลาร์สหรัฐ
สกลุเงินยูโรได้รับแรงหนุนจากดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีพุ่งขึ้นในเดือนพ.ค. หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง ขณะที่เศรษฐกิจเยอรมนีมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของนักลงทุน พุ่งขึ้นแตะ 84.4 จุดในเดือนพ.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 72.0 จุด จากระดับ 70.7 จุดในเดือนเม.ย.
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในวันนี้ ซึ่งหากตัวเลข CPI พุ่งขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ก็จะทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และหนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐดีดตัวขึ้น รวมทั้งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยอาจลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อสกัดเงินเฟ้อ จากปัจจุบันที่เฟดทำ QE อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน
ก่อนหน้านี้ เฟดเคยส่งสัญญาณลดวงเงิน QE ในปี 2556 ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกต่อนักลงทุน ส่งผลให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทและตลาดหุ้นทั่วโลกทรุดตัวลงอย่างหนักในปีดังกล่าว
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน พุ่งขึ้น 8% สู่ระดับ 8.12 ล้านตำแหน่งในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนธ.ค.2543
ทั้งนี้ ตัวเลข JOLTS นับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟด
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐในสัปดาห์นี้ด้วย ซึ่งรวมถึง จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนเม.ย., ยอดค้าปลีกเดือนเม.ย., ราคานำเข้าและส่งออกเดือนเม.ย., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนมี.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนพ.ค.