ดอลลาร์ปรับตัวแคบ หลังดีดตัววานนี้ ขานรับตัวเลขเงินเฟ้อพุ่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 13, 2021 22:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์ปรับตัวแคบในวันนี้ หลังจากดีดตัวขึ้นวานนี้ ขานรับตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐที่พุ่งขึ้นเกินคาด

ณ เวลา 22.34 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์ขยับลง 0.02% สู่ระดับ 109.62 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.04% สู่ระดับ 132.30 เยน และอ่อนค่า 0.01% สู่ระดับ 1.207 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.1% สู่ระดับ 90.80

ดอลลาร์แข็งค่าเทียบสกุลเงินหลักวานนี้ ท่ามกลางความคาดหวังว่าเงินเฟ้อที่เร่งตัวในสหรัฐ จะกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด และลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

อย่างไรก็ดี นายริชาร์ด แคลริดา รองประธานเฟด ยืนยันว่า เฟดจะยังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน

นายแคลริดากล่าวว่า ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างมากในเดือนเม.ย. จะไม่ทำให้เฟดเปลี่ยนแปลงแนวทางการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ

นอกจากนี้ นายแคลริดายังกล่าวว่า เฟดจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนที่จะพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐระบุว่า ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 473,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐเมื่อเดือนมี.ค.2563

นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 490,000 ราย และต่ำกว่าสัปดาห์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 507,000 ราย

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ก็ยังคงสูงกว่าระดับ 230,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลงสู่ระดับ 3.66 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.2563

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐยังเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ดีดตัวขึ้น 0.6% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.3%

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 6.2% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2553 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 3.8%

ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดีดตัวขึ้น 0.7% ในเดือนเม.ย. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.4%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ