ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (13 พ.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งรวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.05% สู่ระดับ 90.7552 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2166 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2106 ดอลลาร์แคนาดา แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.45 เยน จากระดับ 109.58 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9062 ฟรังก์ จากระดับ 0.9080 ฟรังก์
ยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2075 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2079 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.4042 ดอลลาร์ จากระดับ 1.4058 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7725 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7730 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์ดีดตัวขึ้นหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจเมื่อคืนนี้ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ดีดตัวขึ้น 0.6% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.3% และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 6.2% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2553 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 3.8%
ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดีดตัวขึ้น 0.7% ในเดือนเม.ย. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.4%
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 34,000 ราย สู่ระดับ 473,000 รายในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 8 พ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐเมื่อเดือนมี.ค.2563 และยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 490,000 ราย
นักลงทุนรอดูข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในวันนี้ ซึ่งได้แก่ ยอดค้าปลีกเดือนเม.ย., ราคานำเข้าและส่งออกเดือนเม.ย., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนมี.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนพ.ค.