ดอลลาร์อ่อนค่าเทียบสกุลเงินหลัก ขณะที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในระยะใกล้
ณ เวลา 22.40 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์ร่วงลง 0.21% สู่ระดับ 108.96 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวขึ้น 0.22% สู่ระดับ 132.97 เยน และดีดตัวขึ้น 0.44% สู่ระดับ 1.22 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.31% สู่ระดับ 89.88
นายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟด สาขาแอตแลนตา กล่าวว่า เขามีความพอใจต่อนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษของเฟดในขณะนี้ แม้ว่าเงินเฟ้อกำลังเร่งตัวขึ้น
"เรายังคงมีการจ้างงานต่ำเกินไป 8 ล้านตำแหน่งเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ทำให้เรายังคงมีช่องว่างในการใช้นโยบายการเงินที่มีการผ่อนคลายอย่างมากต่อไป" นายบอสติกกล่าว
ตลาดจับตารายงานการประชุมนโยบายการเงินของเฟดประจำวันที่ 27-28 เม.ย.ที่จะมีการเผยแพร่ในวันพรุ่งนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางนโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังมีการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเกินคาด
ทั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟด มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% ในการประชุมเมื่อเดือนที่แล้ว และระบุว่า เฟดจะยังคงซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน
ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 266,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1,000,000 ตำแหน่ง
ส่วนอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 6.1% ในเดือนเม.ย. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 5.8%
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐยังเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ดีดตัวขึ้น 0.8% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนมี.ค.
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 4.2% ซึ่งเป็นการดีดตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2551 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.6% หลังจากเพิ่มขึ้น 2.6% ในเดือนมี.ค.