ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (18 พ.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.46% สู่ระดับ 89.7506 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.86 เยน จากระดับ 109.17 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8964 ฟรังก์ จากระดับ 0.9023 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2058 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2062 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2228 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2158 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.4190 ดอลลาร์ จากระดับ 1.4143 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7801 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7770 ดอลลาร์
นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะใกล้นี้ หลังจากนายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟด สาขาแอตแลนตา กล่าวว่า เขามีความพอใจต่อนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษของเฟดในขณะนี้ แม้ว่าเงินเฟ้อกำลังเร่งตัวขึ้น
"เรายังคงมีการจ้างงานต่ำเกินไป 8 ล้านตำแหน่งเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ทำให้เรายังคงมีช่องว่างในการใช้นโยบายการเงินที่มีการผ่อนคลายอย่างมากต่อไป" นายบอสติกกล่าว
นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอยังเป็นปัจจัยฉุดสกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านดิ่งลง 9.5% ในเดือนเม.ย. สู่ระดับ 1.569 ล้านยูนิต และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.710 ล้านยูนิต โดยได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของราคาไม้ และวัสดุอื่นๆในการสร้างบ้าน
นักลงทุนจับตารายงานการประชุมนโยบายการเงินของเฟดประจำวันที่ 27-28 เม.ย.ซึ่งจะมีการเผยแพร่ในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางนโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังมีการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเกินคาด
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ด้วย ซึ่งได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีการผลิตเดือนพ.ค.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือนพ.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนพ.ค.จากมาร์กิต และยอดขายบ้านมือสองเดือนเม.ย.