ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (24 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนพากันเทขายดอลลาร์ ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย และหันไปซื้อสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยงเช่นยูโร หลังมีกระแสคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.19% แตะที่ 89.8439 เมื่อคืนนี้
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2213 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2180 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.4158 ดอลลาร์ จากระดับ 1.4154 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7755 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7732 ดอลลาร์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.78 เยน จากระดับ 108.91 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8968 ฟรังก์ จากระดับ 0.8979 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2046 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2062 ดอลลาร์แคนาดา
นักลงทุนเข้าซื้อสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยง เช่นยูโร หลังมีสัญญาณบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ โดยไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงินเปิดเผยว่า ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ดีดตัวสู่ระดับ 68.1 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากระดับ 63.5 ในเดือนเม.ย. โดยดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐยังคงมีการขยายตัวทั้งภาคการผลิตและบริการ
ส่วนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของยูโรโซน ดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 56.9 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2561 จากระดับ 53.8 ในเดือนเม.ย.
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโกเปิดเผยว่า ดัชนี Chicago Fed National Activity Index (CFNAI) ปรับตัวลงสู่ระดับ 0.24 ในเดือนเม.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.20 จากระดับ 1.71 ในเดือนมี.ค. โดยดัชนี CFNAI ถือเป็นตัวชี้วัดที่ดีที่สุดในการประเมินความเสี่ยงในการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2564 (ประมาณการครั้งที่ 2) ของสหรัฐในวันพฤหัสบดี และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์นี้ โดยดัชนี PCE นับเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนีราคาบ้านเดือนมี.ค.จากเอสแอนด์พี/เคส-ชิลเลอร์, ยอดขายบ้านใหม่เดือนเม.ย., ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.จาก Conference Board, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนเม.ย. และยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนเม.ย.