ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (27 พ.ค.) หลังจากนักลงทุนซึมซับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยหลายรายการ ซึ่งรวมถึงยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนและจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐ ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.08% แตะที่ 89.9747
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8970 ฟรังก์ จากระดับ 0.8976 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2065 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2112 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 109.78 เยน จากระดับ 109.12 เยน
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2198 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2193 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.4209 ดอลลาร์ จากระดับ 1.4124 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7744 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7745 ดอลลาร์สหรัฐ
นักลงทุนซึมซับข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีการเปิดเผยหลายรายการเมื่อคืนนี้ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 38,000 ราย สู่ระดับ 406,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐเมื่อเดือนมี.ค.2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 425,000 ราย
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2564 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 6.4% ในไตรมาส 1 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขประมาณการครั้งแรก และเป็นการขยายตัวสูงเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่ไตรมาส 3/2546
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังระบุด้วยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ลดลง 1.3% ในเดือนเม.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 1.3% ในเดือนมี.ค. โดยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนในเดือนเม.ย.ได้รับแรงกดดันจากการดิ่งลงของยอดสั่งซื้อในกลุ่มขนส่ง โดยการผลิตรถยนต์ร่วงลง เนื่องจากประสบปัญหาการขาดแคลนชิป
ทางด้านสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) ดิ่งลง 4.4% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน หลังเพิ่มขึ้น 1.9% ในเดือนมี.ค. โดยดัชนีเดือนเม.ย.ถูกกดดันจากสต็อกบ้านในระดับต่ำ ขณะที่ราคาบ้านพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนเม.ย.ของสหรัฐในวันนี้ โดยเฉพาะดัชนี PCE พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ
นักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี PCE พื้นฐานจะพุ่งขึ้น 2.9% ในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 1.8% ในเดือนมี.ค. ซึ่งการพุ่งขึ้นของดัชนี PCE พื้นฐานอาจส่งผลให้เฟดปรับลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จากปัจจุบันที่เฟดทำ QE อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน
- ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กจะปิดทำการในวันจันทร์ที่ 31 พ.ค.นี้ เนื่องในวัน Memorial Day *