ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 มิ.ย.) หลังจากนักลงทุนซึมซับข้อมูลภาคการผลิตของสหรัฐ ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาข้อมูลแรงงานของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค.
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.01% แตะที่ 89.8295 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.42 เยน จากระดับ 109.49 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8966 ฟรังก์ จากระดับ 0.8988 ฟรังก์ แต่เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.2058 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2050 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2228 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2227 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.4160 ดอลลาร์ จากระดับ 1.4202 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งขึ้นสู่ระดับ 0.7763 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7737 ดอลลาร์สหรัฐ
สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 61.2 ในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้นจากเดือนเม.ย. ที่ระดับ 60.7 ทั้งนี้ ดัชนีภาคการผลิตในเดือนพ.ค. ได้รับแรงหนุนจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ ยอดการผลิต และการจ้างงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เพื่อผลิตสินค้าให้ทันความต้องการที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ดี การขาดแคลนวัตถุในการผลิต ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น และอุปสรรคในการขนส่งสินค้า ได้เข้ามาเป็นปัจจัยกดดันภาคการผลิตในระดับหนึ่ง
ทางด้านไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 62.1 ในเดือนพ.ค. จากระดับ 60.5 ในเดือนเม.ย. โดยดัชนี PMI เดือนพ.ค.ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนพ.ค.2550 โดยได้แรงหนุนจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดเป็นประวัติการณ์
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนพ.ค.จาก ADP, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนพ.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนพ.ค. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค. และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนเม.ย.