ดอลลาร์แข็งค่า ขานรับภาคการผลิตแข็งแกร่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 2, 2021 22:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์แข็งค่าในวันนี้ ขานรับการเปิดเผยตัวเลขภาคการผลิตที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ณ เวลา 22.45 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์แข็งค่า 0.13% สู่ระดับ 109.59 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวขึ้น 0.14% สู่ระดับ 133.84 เยน และขยับขึ้น 0.01% สู่ระดับ 1.221 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.09% สู่ระดับ 89.91

ไอเอชเอส มาร์กิตเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ระดับ 62.1 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนพ.ค.2550 โดยได้แรงหนุนจากคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ส่วนสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดีดตัวสู่ระดับ 61.2 ในเดือนพ.ค. โดยได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่, การผลิต และการจ้างงาน

นักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันศุกร์นี้

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ในวันศุกร์นี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 671,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. หลังจากที่การจ้างงานได้ชะลอตัวลงอย่างมากในเดือนเม.ย.

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานก่อนหน้านี้ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 266,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1,000,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 6.1% ในเดือนเม.ย. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 5.8%

นักวิเคราะห์ระบุว่า การที่ตัวเลขการจ้างงานต่ำกว่าคาดในเดือนเม.ย. มีสาเหตุจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน หลังจากที่รัฐต่างๆผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 6.4% ในไตรมาสแรก ซึ่งเป็นตัวเลขการขยายตัวสูงเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่ไตรมาส 3/2546 ส่งผลให้ภาคธุรกิจมีความต้องการแรงงานมากขึ้น นับตั้งแต่ภาคการผลิตไปจนถึงร้านอาหาร

นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังมีสาเหตุจากการที่ผู้ปกครองยังคงต้องอยู่บ้านดูแลบุตร และการที่รัฐบาลสหรัฐออกมาตรการเยียวยาชาวอเมริกันที่ได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยการส่งเช็คเงินสดไปให้ผู้ที่ตกงาน ก็ได้ลดแรงจูงใจในการเข้าตลาดแรงงานในระยะนี้ โดยนักวิเคราะห์คาดว่าการจ้างงานจะกลับสู่ภาวะปกติในเดือนก.ย. ซึ่งมาตรการเยียวยาของรัฐบาลมีกำหนดสิ้นสุดลงในช่วงเวลาดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ