ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (2 มิ.ย.) ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลแรงงานของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงจำนวนผู้รับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค.
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.091% แตะที่ 89.9110 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.56 เยน จากระดับ 109.42 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8979 ฟรังก์ จากระดับ 0.8966 ฟรังก์ แต่เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.2035 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2058 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2210 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2228 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.4167 ดอลลาร์ จากระดับ 1.4160 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7751 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7763 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์ได้รับแรงหนุนในระดับหนึ่ง หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจหรือ Beige Book โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงขยายตัวในช่วงต้นเดือนเม.ย.จนถึงปลายเดือนพ.ค. โดยเศรษฐกิจในบางพื้นที่มีอัตราการขยายตัวที่รวดเร็วขึ้น เนื่องจากประชาชนจำนวนมากได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 และเริ่มเข้าไปใช้บริการในร้านอาหาร โรงแรม และห้างค้าปลีก
นักลงทุนจับตาข้อมูลแรงงานหลายรายการของสหรัฐ โดยในวันนี้จะมีการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนพ.ค.จาก ADP และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ส่วนในวันพรุ่งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนพ.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 671,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. หลังจากที่การจ้างงานได้ชะลอตัวลงอย่างมากในเดือนเม.ย.
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนพ.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนพ.ค. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนเม.ย.
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจของยุโรปที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในยูโรโซน ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าหน้าโรงงาน เพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 7.6% ในเดือนเม.ย. โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของราคาพลังงาน
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของดัชนี PPI เป็นสิ่งบ่งชี้แนวโน้มดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เนื่องจากผู้ผลิตมักผลักภาระการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าไปยังผู้บริโภค ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตั้งเป้าเงินเฟ้อให้ "อยู่ใกล้ แต่ไม่เกินระดับ 2%"