ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนเทียบสกุลเงินหลัก นักลงทุนจับตา CPI สหรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 8, 2021 07:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (7 มิ.ย.) ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อ และท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.21% แตะที่ 89.9510 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.26 เยน จากระดับ 109.50 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8972 ฟรังก์ จากระดับ 0.8991 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2070 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2074 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2195 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2165 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.4183 ดอลลาร์ จากระดับ 1.4159 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7760 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7743 ดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนจับตาสหรัฐจะเปิดเผยดัชนี CPI ในวันพฤหัสบดีนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค จะพุ่งขึ้น 4.7% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากดีดตัวขึ้น 4.2% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551

นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ดุลการค้าเดือนเม.ย., ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนเม.ย., สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนเม.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดิอนมิ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจของฝั่งยุโรปที่มีการเปิดเผยล่าสุดนั้น สำนักงานสถิติของรัฐบาลเยอรมนี (FSO) รายงานว่า ยอดสั่งซื้อในภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีเดือนเม.ย.ลดลง ซึ่งสวนทางกับการคาดการณ์ โดยได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์ในประเทศที่หดตัวลง ขณะที่ภาวะชะงักงันในห่วงโซ่อุปทานส่งผลให้ผู้ผลิตในเยอรมนีชะลอการผลิต

ทั้งนี้ คำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีในเดือนเม.ย. ลดลง 0.2% เมื่อปรับค่าตามฤดูกาลแล้ว และเป็นการชะลอตัวลงเป็นครั้งแรกหลังเพิ่มขึ้นมาตลอดช่วงสามเดือนแรกของปีนี้ โดยข้อมูลดังกล่าวสวนทางจากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.0% หลังจากที่ยอดสั่งซื้อในภาคอุตสาหกรรมหลังปรับทวนในเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 3.9%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ