ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (8 มิ.ย.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งรวมถึงตัวเลขขาดดุลการค้าที่ลดลงสู่ระดับต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อของสหรัฐ
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.14% แตะที่ 90.0731 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.48 เยน จากระดับ 109.26 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2105 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2070 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.8963 ฟรังก์ จากระดับ 0.8972 ฟรังก์
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2180 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2195 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.4164 ดอลลาร์ จากระดับ 1.4183 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7742 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7760 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐลดลง 8.2% สู่ระดับ 6.89 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.90 หมื่นล้านดอลลาร์ จากระดับ 7.50 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ทางด้านสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน พุ่งขึ้นสู่ระดับ 9.3 ล้านตำแหน่งในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนธ.ค.2543 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.18 ล้านตำแหน่ง
นักลงทุนจับตากระทรวงแรงงานสหรัฐเตรียมเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ค.ในวันพฤหัสบดีนี้ ทางด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค จะพุ่งขึ้น 4.7% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากดีดตัวขึ้น 4.2% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนเม.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดิอนมิ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน