ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (17 มิ.ย.) โดยดอลลาร์ยังคงได้รับปัจจัยบวกจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ 1 ปี ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดเปิดเผยว่า กรรมการเฟดได้เริ่มหารือกันเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.79% แตะที่ 91.8715 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9171 ฟรังก์ จากระดับ 0.9061 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2351 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2266 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 110.24 เยน จากระดับ 110.49 เยน
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1914 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2018 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3925 ดอลลาร์ จากระดับ 1.4003 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7553 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7615 ดอลลาร์
ดอลลาร์แข็งค่าอย่างต่อเนื่องหลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่ได้ส่งสัญญาณในเดือนมี.ค.ว่าเฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567
ทั้งนี้ ในรายงาน dot-plot ระบุว่า กรรมการเฟด 13 รายคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 ขณะที่กรรมการเฟดส่วนใหญ่คาดว่าเฟดจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งในปีดังกล่าว และมีเพียง 5 รายคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยตลอดปี 2566 ขณะที่ 7 รายคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในปี 2565
ทางด้านนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดได้แถลงต่อสื่อมวลชนภายหลังการประชุมวานนี้ว่า กรรมการเฟดได้เริ่มหารือกันเกี่ยวกับการปรับลดวงเงิน QE ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน และกรรมการเฟดจะยังคงหารือกันในเรื่องนี้ต่อไปจนกว่าจะตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐจะขยายตัวอย่างเต็มศักยภาพและอัตราเงินเฟ้อดีดตัวขึ้นสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ Conference Board เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ปรับตัวขึ้น 1.3% สู่ระดับ 114.5 ในเดือนพ.ค. โดยดีดตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ทั้งนี้ ดัชนี LEI ถือเป็นดัชนีบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ โดยคำนวณจากตัวเลขเศรษฐกิจ 10 รายการ ซึ่งรวมถึงคำสั่งซื้อใหม่ของภาคการผลิต, ราคาหุ้น และตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน
ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 412,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 360,000 ราย และสูงกว่าสัปดาห์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 375,000 ราย