ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 เดือนในวันนี้ หลังจากที่นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในปีหน้า
ณ เวลา 22.13 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ บวก 0.53% สู่ระดับ 92.38 ส่วนดอลลาร์ปรับตัวขึ้น 0.09% สู่ระดับ 110.30 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.37% สู่ระดับ 130.70 เยน และร่วงลง 0.46% สู่ระดับ 1.185 ดอลลาร์
นอกจากนี้ ดัชนีดอลลาร์มีแนวโน้มพุ่งขึ้น 1.6% ในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2563
ทั้งนี้ นายบูลลาร์ดเป็นกรรมการเฟด 1 ใน 7 รายที่คาดว่าเฟดจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่จะดำเนินไปอย่างยาวนาน
"ผมคาดว่าเฟดจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปลายปีหน้าเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่จะพุ่งแตะ 3% ในปีนี้ และจะอยู่ที่ 2.5% จนถึงปี 2565 โดยสูงกว่าเป้าหมาย 2% ของเฟด" นายบูลลาร์ดกล่าว
นายบูลลาร์ดระบุว่า การที่เฟดส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดในสัปดาห์นี้ ถือเป็นการรับมือตามปกติต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และโดยเฉพาะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ ขณะที่สหรัฐทำการเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง หลังจากประกาศล็อกดาวน์ก่อนหน้านี้จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในสัปดาห์นี้ กรรมการเฟดจำนวน 13 จาก 18 รายคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปลายปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่ได้ส่งสัญญาณในเดือนมี.ค.ว่าเฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567 นอกจากนี้ เฟดยังคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2566
นายบูลลาร์ดกล่าวว่า การปรับนโยบายดังกล่าวของเฟดถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ใกล้จะยุติลงแล้ว
นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด เปิดเผยว่า กรรมการเฟดได้เริ่มหารือกันเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าเฟดเตรียมชะลอการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายหลังจากตัวเลขเงินเฟ้อดีดตัวขึ้น