ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินปอนด์ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (25 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการที่สหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง รวมถึงข้อมูลเงินเฟ้อที่ขยายตัว
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.04% แตะที่ 91.8522 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.82 เยน จากระดับ 110.85 เยน, อ่อนค่าเมื่อเทียกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9176 ฟรังก์ จากระดับ 0.9183 ฟรังก์ และอ่อนค่าแตะที่ระดับ 1.2306 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2322 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรทรงตัวเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1931 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าสู่ระดับ 1.3875 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3927 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7584 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7582 ดอลลาร์สหรัฐ
ดัชนีดอลลาร์ปรับตัวขึ้นขานรับการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ พุ่งขึ้น 3.4% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2535 หรือสูงสุดในรอบเกือบ 30 ปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนพ.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.6%
ดัชนี PCE ทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนพ.ค. จากระดับ 0.6% ในเดือนเม.ย. และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE ทั่วไปพุ่งขึ้น 3.9% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2561
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐทรงตัว หรือเพิ่มขึ้น 0% ในเดือนพ.ค. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจเพิ่มขึ้น 0.5% หลังจากพุ่งขึ้น 0.9% ในเดือนเม.ย. ขณะที่รายได้ส่วนบุคคล ลดลง 2% ในเดือนพ.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่า อาจลดลง 2.7%
ส่วนผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวสู่ระดับ 85.5 ในเดือนมิ.ย. สูงกว่าระดับ 82.9 ในเดือนพ.ค. แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 86.5