ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (29 มิ.ย.) เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดทั่วโลกได้กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย และเทขายสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งรวมถึงดอลลาร์ออสเตรเลียและยูโร
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.18% แตะที่ 92.0547 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9210 ฟรังก์ จากระดับ 0.9197 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2392 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2342 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 110.51 เยน จากระดับ 110.53 เยน
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1901 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1923 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3849 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3877 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7514 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7565 ดอลลาร์สหรัฐ
นักลงทุนแห่ซื้อดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นสกุลเงินปลอดภัย เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว
นายเกรก ฮันท์ รมว.สาธารณสุขออสเตรเลีย ประกาศว่า ออสเตรเลียกำลัง"เฝ้าระวังในระดับสูง" ต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในชุมชนต่างๆ หลังมีรายงานพบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ซึ่งมีการพบครั้งแรกในอินเดีย จนส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ในซิดนีย์ และกลับมาใช้มาตรการคุมเข้มในพื้นที่อื่นๆ
ทั้งนี้ ประชาชนชาวออสเตรเลียราว 18 ล้านคน หรือ 70% จากประชากรทั้งหมด ต่างก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขต้องเผชิญกับยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นในเกือบทุกรัฐ
ส่วนอังกฤษพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มอีก 20,479 ราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อในประเทศอยู่ที่ 4,775,301 ราย โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งขึ้นมากกว่า 20,000 รายเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากพุ่งแตะ 22,868 รายเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ ผลสำรวจของ Conference Board ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ระดับ 127.3 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเดือนก.พ.2563 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 119.0
ขณะที่ผลสำรวจของเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ชิลเลอร์ ระบุว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐพุ่งขึ้น 14.6% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 30 ปี และเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งของผู้ซื้อบ้าน และสต็อกบ้านที่ตึงตัว
นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 683,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. สูงกว่าในเดือนพ.ค.ที่เพิ่มขึ้นเพียง 559,000 ตำแหน่ง
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนมิ.ย.จาก ADP, ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนพ.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนมิ.ย.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนมิ.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), ดุลการค้าเดือนพ.ค. และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนพ.ค.