ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 ก.ค.) หลังสหรัฐเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิ.ย.ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันงนี้
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.18% แตะที่ 92.5993 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 111.61 เยน จากระดับ 111.08 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ Japanese 0.9263 ฟรังก์ จากระดับ 0.9260 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2442 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2404 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1841 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1847 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3755 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3803 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7461 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7494 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์ดีดตัวขึ้นหลังจากตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับตัวขึ้นหลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 51,000 ราย สู่ระดับ 364,000 รายในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 26 มิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐเมื่อเดือนมี.ค.2563 นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 390,000 ราย และต่ำกว่าสัปดาห์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 415,000 ราย
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 60.6 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 61.0 หลังจากแตะระดับ 61.2 ในเดือนพ.ค. โดยดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐได้รับผลกระทบจากการหดตัวของการจ้างงานเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ท่ามกลางการขาดแคลนวัตถุดิบและแรงงาน ขณะที่คำสั่งซื้อใหม่ปรับตัวลงเช่นกัน
ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างลดลง 0.3% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.4% หลังจากขยับขึ้น 0.1% ในเดือนเม.ย. แต่เมื่อเทียบรายปี การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 7.5% ในเดือนพ.ค.
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันนี้ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้น 706,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. และคาดว่าอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 5.6%
ทั้งนี้ นักลงทุนมองว่าข้อมูลแรงงานจะเป็นปัจจัยบ่งชี้แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดได้แถลงต่อคณะอนุกรรมการว่าด้วยวิกฤตการณ์โควิด-19 ประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า เฟดจะจับตาข้อมูลสถิติของตลาดแรงงานเป็นวงกว้าง โดยเฟดไม่มองแค่จำนวนคนที่ไม่มีงานทำเท่านั้น แต่จะดูมาตรวัดทั้งหมดของตลาดแรงงาน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเฟดจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ