ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ยูโรอ่อนค่า หลังเยอรมนีเผยข้อมูลเศรษฐกิจซบเซา

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 7, 2021 07:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (6 ก.ค.) หลังมีรายงานว่ายอดสั่งซื้อสินค้าในภาคการผลิตของเยอรมนีร่วงลงหนักสุดนับตั้งแต่ปี 2563 ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเปิดเผยรายงานการประชุมเดือนมิ.ย.ในวันนี้

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.37% แตะที่ 92.5490 เมื่อคืนนี้

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1823 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1868 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3800 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3852 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7496 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7531 ดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9247 ฟรังก์ จากระดับ 0.9219 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2461 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2334 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 110.61 เยน จากระดับ 110.89 เยน

ยูโรอ่อนค่าลงหลังจากสำนักงานสถิติของรัฐบาลเยอรมนี (FSO) เปิดเผยวานนี้ว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าในภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีร่วงลง 3.7% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นการร่วงลงหนักสุดนับตั้งแต่การล็อกดาวน์ครั้งแรกในปี 2563 โดยได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่ลดลงจากประเทศนอกเขตยูโรโซน

ทางด้านสถาบันโรเบิร์ต คอช (RKI) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลเยอรมนีในการควบคุมโรคติดเชื้อเปิดเผยว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเยอรมนีลดลง 10.7% แตะที่ 616,396 รายในช่วงสุดสัปดาห์แรกของเดือนก.ค. เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเรียกร้องให้มีการเก็บค่าปรับ หากประชาชนไม่ยอมมาฉีดวัคซีนตามนัดหรือไม่แจ้งยกเลิกหากไม่สามารถมาตามนัด

ส่วนดอลลาร์แข็งค่าขึ้นก่อนที่เฟดจะเปิดเผยรายงานการประชุมเดือนมิ.ย.ในวันพุธที่ 7 ก.ค.ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับช่วงเช้าของวันพฤหัสบดีที่ 8 ก.ค.ตามเวลาไทย เพื่อจับสัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ในการประชุมเมื่อวันที่ 15-16 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่ได้ส่งสัญญาณในเดือนมี.ค.ว่าเฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึง ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนพ.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนพ.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ