ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (12 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนเงินปอนด์อ่อนค่าลงหลังมีรายงานว่า นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เตรียมประกาศยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงพุ่งขึ้นก็ตาม
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.13% แตะที่ 92.2596 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9154 ฟรังก์ จากระดับ 0.9142 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2465 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2455 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 110.33 เยน จากระดับ 110.71 เยน
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1857 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1876 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3874 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3889 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7473 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7491 ดอลลาร์สหรัฐ
นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่สามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วขึ้น
ข้อมูลล่าสุดจาก Worldometer ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกสะสมมีจำนวน 187,881,480 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 4,052,664 ราย โดยสหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อสูงสุดในโลกถึง 34,733,831 และมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดในโลกถึง 622,850 ราย
ส่วนปอนด์อ่อนค่าลงท่ามกลางความวิตกของนักลงทุน หลังจากนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เตรียมประกาศยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงพุ่งขึ้นก็ตาม
นักวิเคราะห์เตือนว่านายจอห์นสันเคยยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์มาแล้วครั้งหนึ่งในปีที่แล้ว แต่ก็ต้องกลับมาบังคับใช้ใหม่ หลังเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ และหากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ก็จะกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE)
นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจ, อัตราเงินเฟ้อ, ทิศทางอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ โดยนายพาวเวลจะกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันที่ 14 ก.ค. และแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 15 ก.ค.
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ด้วย ซึ่งรวมถึง ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมิ.ย., ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมิ.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ชนีการผลิตเดือนก.ค.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย, ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนก.ค.จากเฟดนิวยอร์ก, ราคานำเข้าและส่งออกเดือนมิ.ย., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย., ยอดค้าปลีกเดือนมิ.ย., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนพ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐขั้นต้นเดือนก.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน