ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (14 ก.ค.) หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่า เฟดจะเดินหน้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และจะยังไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นหลังจากอังกฤษเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.38% แตะที่ 92.4050 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.00 เยน จากระดับ 110.59 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9146 ฟรังก์ จากระดับ 0.9186 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2508 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2518 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1830 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1782 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.3852 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3820 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7477 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7445 ดอลลาร์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง หลังจากนายพาวเวลได้กล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรเมื่อคืนนี้ โดยระบุว่า เฟดจะยังคงเดินหน้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE และจะยังไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นในขณะนี้ พร้อมกับย้ำว่า เฟดจะใช้นโยบายการเงินในการสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐ จนกว่าเศรษฐกิจะฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์
นายพาวเวลยังกล่าวด้วยว่า การที่เฟดจะลดวงเงิน QE จากระดับ 120,000 ล้านดอลลาร์/เดือนนั้น จะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆนี้
ส่วนประเด็นเงินเฟ้อ นายพาวเวลมองว่า เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในระยะนี้เกิดจากปัจจัยชั่วคราว จากการที่รัฐต่างๆทำการเปิดเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะดีดตัวขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ก่อนที่จะปรับตัวลงเมื่อสถานการณ์ต่างๆกลับสู่ภาวะปกติ
ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้น หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้นแตะ 2.5% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2561 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.2% นอกจากนี้ ดัชนี CPI เดือนมิ.ย.ยังสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางอังกฤษซึ่งกำหนดไว้ที่ระดับ 2%
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต พุ่งขึ้น 1% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.6% ขณะที่ดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดีดตัวขึ้น 1% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากเป็นประวัติการณ์
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีการผลิตเดือนก.ค.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย, ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนก.ค.จากเฟดนิวยอร์ก, ราคานำเข้าและส่งออกเดือนมิ.ย., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย., ยอดค้าปลีกเดือนมิ.ย., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนพ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐขั้นต้นเดือนก.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน