ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (15 ก.ค.) ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการที่ลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐเมื่อเดือนมี.ค.2563
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.24% แตะที่ 92.6236 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9180 ฟรังก์ จากระดับ 0.9146 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2608 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2508 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 109.81 เยน จากระดับ 110.00 เยน
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1806 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1830 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3810 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3852 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7418 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7477 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์ได้รับปัจจัยบวกจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 360,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐเมื่อเดือนมี.ค.2563 โดยลดลงจากระดับ 386,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้านี้
ทางด้านธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนมิ.ย. โดยตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวม เป็นการวัดการปรับตัวของภาคโรงงาน, เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค
นอกจากนี้ เฟดสาขานิวยอร์กรายงานว่า ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) พุ่งขึ้น 25.6 จุด สู่ระดับ 43.0 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบ 1 เดือน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 18.0 โดยได้แรงหนุนจากการดีดตัวของคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในวันนี้ได้แก่ ยอดค้าปลีกเดือนมิ.ย., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนพ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐขั้นต้นเดือนก.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน