ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อน หลังบอนด์ยีลด์ร่วง-ภาคการผลิตสหรัฐชะลอตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 3, 2021 07:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (2 ส.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ รวมทั้งดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐที่ปรับตัวลงในเดือนก.ค.

ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.14% แตะที่ 92.0441 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.24 เยน จากระดับ 109.75 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9048 ฟรังก์ จากระดับ 0.9061 ฟรังก์ แต่เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2507 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2478 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1874 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1857 ดอลลาร์ ส่วนเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.3894 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3891 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7365 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7335 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์อ่อนแรงลงหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ร่วงลงสู่ระดับ 1.162% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 1.838% เมื่อคืนนี้

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันหลังจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 59.5 ในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 60.9 หลังจากแตะระดับ 60.6 ในเดือนมิ.ย. โดยดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงของคำสั่งซื้อใหม่

นักลงทุนจับตาการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 26-28 ส.ค.นี้ เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟด

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนมิ.ย., ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.ค.จาก ADP, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนก.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนก.ค. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดุลการค้าเดือนมิ.ย., ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ค. และสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนมิ.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ